ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมความยาวถึงประมาณ2,815กิโลเมตรตามสภาพทางภูมิศาสตร์ สามารถแบ่งทะเลไทยออกได้เป็น3 ส่วน คือ
1. ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือทะเลด้านอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่บริเวณจุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับ แม่น้ำเจ้าพระยา เลียบไปทางตะวันออกจนจดเขตแดนราชอาณาจักรกัมพูชา ที่แหลมสารพัดพิษ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด รวมความยาวประมาณ544กิโลเมตร
2. ชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านทิศตะวันออก หรือฝั่งอ่าวไทย เริ่มจากจุดกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำท่าจีนกับแม่ น้ำเจ้าพระยา เรื่อยไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ จนจดเขตแดนมาเลเซีย ที่ปากแม่น้ำสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รวมความยาว ประมาณ 1,334 กิโลเมตร
3. ชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านทิศตะวันตก หรือ ฝั่งทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย นับตั้งแต่ปากน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งจดกับเขตแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรื่อยไปทางใต้จนถึงเขตแดนของมาเลเซียที่จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในช่องแคบมะละกา รวมความยาว ประมาณ 937 กิโลเมตร
ทั้ง 3 เขตทะเลของไทยมีไหล่ทวีปกว้างรวมกันประมาณ350,000 ตาราง กิโลเมตร และมีเกาะใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก มีธรรมชาติงดงามให้เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงเวลาที่ปราศจากลมมรสุม และเหมาะสำหรับท่องเที่ยวทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งอันดามัน และทะเลอ่าวไทย ในภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก หรือฝั่งอ่าวไทย เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก มีเกาะที่สำคัญ คือ เกาะสีชัง เกาะล้าน เกาะเสม็ด หมู่เกาะมัน และเกาะช้าง มีแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งที่เป็นที่นิยม เช่น หาดบางแสน หาดพัทยา จังหวัดชลบุรี และหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง เป็นต้น ส่วนหมู่เกาะสำคัญของฝั่งทะเลภาคใต้ด้านอ่าวไทย ประกอบด้วยเกาะเต่า เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะพะงัน เป็นต้น
สำหรับเกาะที่สำคัญของฝั่งทะเลภาคใต้ด้านทะเล อันดามัน ประกอบด้วยเกาะภูเก็ต หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะลันตา เกาะยาว เกาะพระทอง หมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะตะรุเตา เป็นต้น
ชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งของไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้วยอุณหภูมิของน้ำทะเลประมาณ26-31 องศา เซลเซียส และ มีค่าความเค็มของน้ำทะเลอยู่ในระดับที่เหมาะกับการเจริญ เติบโตของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ทะเลไทยจึงนับเป็นท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก
|